วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“คนอยากมีสวนมะม่วง...”ความจริงที่ไม่ควรมองข้าม

         
         อาจารย์ ดร.กาญจนา สุทธิกุล กรุณาให้เขียนเรื่องเบา ๆ เพื่อผ่อนคลายในเรื่องการตลาดท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในยุคโลกาภิวัติ มีตัวแปรที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยากต่อการพยากรณ์สลับสับเปลี่ยน จนคนในแวดวงการเกษตรเองปรับตัวในการใช้แรงงานหลักมาเป็นการใช้ความรู้แทนไม่ทัน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นวันต่อวัน ที่เคยคาดการณ์ว่ามะม่วงปีนี้จะล่าออกไปอีกสักเดือน เพราะอากาศหนาว(ที่ผ่านมา) ก็ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอยู่ ๆ อากาศกลับร้อนขึ้นมาอย่างกระทันหันต่อเนื่องทำให้ผลผลิตแก่เร็วขึ้น ที่คาดว่าผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยวจะได้เปอร์เซนต์คุณภาพสูงอย่างที่คิด ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะฝนตกเกือบจะทุกวัน สารเคมีที่เคยใช้ ก็ใช้ไม่ได้ เพราะระยะเวลาไม่ปลอดภัย คุณภาพผลผลิตจึงเกิดปัญหาอย่างที่เห็น ๆ  กันอยู่    
    
บางบริษัทเซนต์สัญญาไว้กับกลุ่มเกษตรกรก็เริ่มส่อปัญหา ไม่ไปซื้อตามที่ได้ตกลงไว้ กลุ่มเกษตรกรโทรมาหาผมให้ช่วยระบายของ ผมเองก็จนปัญญา เพราะมันแก่แล้วแขวนไว้บนต้นก็ไม่ไหว ขายก็ไม่มีคนซื้อเพราะบริษัทเซนต์สัญญากั๊กคนอื่นไว้หมด ตกลงทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างเอิกเกริกสองสามร้อยตัน เก็บได้ 6-7 ตัน ก็หายเงียบ เหมาะกับซึนามิที่ญี่ปุ่นส่งผลกระทบ กลับเป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผล เมื่อมองถึงเหตุผลลึก ๆ ญี่ปุ่นทั้งประเทศ สั่งมะม่วงเข้าไปบริโภครวมทั้งสิ้นพันกว่าตันต่อปี แต่กลับไปเซนต์สัญญาที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ที่ละสอง สามร้อยตัน ถามจริง ๆ เฮอะ คนญี่ปุ่นบริโภคเพิ่มขึ้นปี ๆ ขนาดนั้นเชียวหรือ ? บริษัทเก่า ๆ ที่เขาส่งกันอยู่ เขามีส่วนแบ่งตลาดที่เข้มแข็งอยู่แล้ว รายใหม่จะเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งตลาดของคนอื่นได้สักเท่าไร นี่เป็นคำถามที่น่าคิดและน่ากังวลต่อความไม่รับผิดชอบ ไม่คิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะเดินสายเซนต์สัญญาไปทั่ว อีกหน่อยจะซื้อหาจากกลุ่มเกษตรกรไหนไม่ได้เลย เพราะเข็ดขยาดต่อสัญญาเหล่านั้น  ต่อไปพันธะสัญญาล่วงหน้า(Contract Farming) กับกลุ่มเกษตรกรจะเป็นหมันไม่ศักดิ์สิทธิ์และไม่น่าเชื่อถือ อันนี้ป็นทุกข์ของเกษตรกรที่ไม่มีใครเหลียวแล มัวแต่หาเสียงเลือกตั้งประกันรายได้โน้น ประกันนี่ ปัญหาเฉพาะหน้าไม่มีใครพูดถึง นี่แหล่ะหนา ชีวิตเกษตรกรไทย..

วันนี่จะขอคุยเรื่องของมะม่วงที่อยากจะคุย เพราะได้รับคำถามทุกครั้งที่ไปบรรยายในหลาย ๆ จังหวัด สามกระทู้ยอดนิยมที่ผมได้รับมาตลอดระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน คือ “คนอยากมีสวนมะม่วง...” “คนมีสวนมะม่วง...” “คนทำสวนมะม่วง...” จะทำอย่างไร ? แต่ผมขอเล่าเป็น สามตอน นะครับ ฉบับนี้เป็นตอนที่ 1 “คนอยากมีสวนมะม่วง...” ความจริงที่ไม่ควรมองข้าม...ลองอ่านดูครับ!!!
ตอนที่ 1  “คนอยากมีสวนมะม่วง...ความจริงที่ไม่ควรมองข้าม” เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสังสรรค์ เพื่อนร่วมรุ่นเมื่อครั้งสี่สิบปีที่แล้ว สมัยจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.ศ.3: BEN 14. com) ผมจบจากเบญจมราชูทิศ จังหวัดราชบุรี ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ปี 2514 และเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์ (ม.ศ.๔-๕) ที่โรงเรียนเดิม ในการพบปะสังสรรค์ครั้งนั้นเลือกเอาชั้น ม.ต้น มารวมเป็นรุ่น มีเพื่อน ๆ ที่จำหน้ากันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง(มีหลายห้อง) ต่างคนต่างสนทนากับเพื่อนที่สนิทสนมเรียนห้องเดียวกัน(สนิทเกือบทุกคน เพราะตั้งแต่ชั้น ม.ศ. ๑-๓ สลับปรับเปลี่ยนเวียนห้องจนครบ ตั้งแต่ ห้อง ก.จนถึงห้อง ฉ.) ได้ดิบได้ดีกันไปตามเส้นทางชีวิต บ้างเป็นทหาร ตำรวจ ครู รับราชการ กรมกอง อื่น ๆ  เปิดร้านอาหาร ทำธุรกิจส่วนตัว หรือบ้างก็เล่นการเมือง แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนไป ที่แน่ ๆ ล้วนแล้วแต่ มีอายุใกล้เกษียณกันแล้วทั้งสิ้น...
                       
            การพูดคุยหนีไม่พ้นการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันไปตามเรื่องตามราว หลายคนเล่าประสบการณ์ย้อนหลัง(เริ่มแก่) การทำงานที่มีทั้งทุกข์และสุขคละเคล้ากันไป ความเติบโตของหน้าที่การงาน บางคนบ่นพ้อถึงการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งที่ไม่เป็นธรรม ก็ว่ากันไป แต่มีเพื่อน ๆ อยู่กลุ่มหนึ่ง พูดคุยและสอบถามผม ซึ่งเป็นคำถามยอดนิยม คือ “หลังเกษียณแล้วผมจะไปทำสวนเกษตร ผมจะทำสวนเกษตรอะไรดี ? หลายคน บอกว่า “มีที่อยู่ที่ต่างจังหวัด จะปลูกอะไรดี เมื่อเกษียณจากราชการ? หรือ “ปีหน้าจะเออร์รี่ แล้วอยากทำสวนเกษตร จะทำอะไรดี? คำถามหลายคำถามที่ใกล้เคียงกันนี้เชื่อว่าตรงใจผู้อ่าน และคงอยากรู้ว่า พืชเศรษฐกิจที่จะลงทุนในฐานะที่พอมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง (ไม่มากนัก) แล้วสามารถยึดเป็นอาชีพได้ในยาม (เริ่ม) แก่ชรา
            ฟัง ๆ แล้วเหมือนดูดี เพราะเป็นการลงทุนในที่ดินเพื่อทำการเกษตรทำให้คนวัยเกษียณมีภาระกิจ อยู่ในสวนที่มีอากาศดี มีความสุข ไม่ต้องแข่งแย่งกันในตำแหน่งหน้าที่การงานให้วุ่นวาย เบนหัวเรือออกไปทำสวน ทำไร่ไม่ต้องมีผู้บังคับบัญชา ไม่ต้องมีผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีแรงกดดันในสังคมรอบข้าง(ระวังแรงกดดันใกล้ตัว) มีเงินบำเน็จ บำนาญเลี้ยงดูอยู่ ทำเลือกสวนไร่นา เป็นความสุข(ทุกข์)ที่หลายคนปรารถนา
คุณหมอท่านหนึ่ง(เกษียณอายุแล้ว) คุยกับผมเรื่องการจัดสรรที่ดินสวนเกษตร พร้อมบ้านจัดสรรขายให้กับผู้สูงอายุ มีที่ดินอยู่แถว ๆ ชะอำอยู่ 700-800 ไร่ อยากจะทำสนามก๊อฟ บางส่วน จัดสรรบ้านพร้อมสวนมะม่วงเป็นแปลงเล็ก ๆ ขาย รวมทั้งสอนทำเกษตรเบื้องต้น รับซื้อผลผลิตไปด้วย ดูรูปแบบโครงการน่าสนใจดี แต่เหนื่อยหน่อย เพราะการทำเกษตรไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องใจรัก อดทน ขยัน หวังฝากผีฝากใคร่ในยามแก่ไม่ได้ หากมีเงินส่วนหนึ่ง ที่กันไว้แล้ว อีกส่วนหนึ่งมาลงทุนทำ (เพราะใจรัก) ได้ผลผลิตบ้างเอาไว้ฝากเพื่อน ลูกหลาน นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะเกษตรถ้าจะยึดเป็นอาชีพ ไม่ใช่แค่คิด แต่ “ต้องรัก ต้องรู้ ต้องทำจริง” ต้องสละทุกอย่างที่เป็นค่านิยมของคนเมืองหลวงออกให้หมด ไม่ว่าจะความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย อาหารการกิน เครื่องใช้สอยที่ไม่จำเป็น เพราะนั่นคือต้นทุนที่แฝงไว้ทั้งสิ้น   เอาไว้ติดตามอ่าน ตอนที่สาม “คนทำสวนมะม่วง”

ผอ.สถานศึกษาท่านหนึ่ง มาปรึกษาผมเมื่อสี่ห้าเดือนที่ผ่านมา ว่าท่านเกษียณราชการแล้ว มีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง กำลังตัดสินใจซื้อสวนยาง เพราะตอนนี้ยางราคาดี ผมก็สนับสนุนไป พอซื้อขายเรียบร้อย ก็มีคนมาขอซื้อต่อให้กำไรพอสมควร ท่านก็ถามผมอีก ผมก็บอกว่าขายไปเถอะ พอได้กำไรสัก สามสี่แสนก็ขายไปเถอะ อยู่ ๆ ลงทุนไป ล้านกว่าบาท ในเวลาเดือนเศษ ได้กำไรร่วมสี่แสนก็เอาเถอะ ท่านบอกว่า “ไม่อยากขาย ยางกำลังราคาดี เก็บไว้ก่อน” พอล่วงมาอีกเดือนเศษ เกิดซึนามิที่ญี่ปุ่น ราคายางตก ท่านก็โทรมาหาผมอีกว่า “รู้อย่างนี้ขายไปตอนนั้นก็ดี ตอนนี้ฝนตกหนัก ยางก็ไม่ดี ราคาก็ตก เหนื่อย ๆ ก็เหนื่อย ผมเริ่มเบื่อแล้ว ทีแรกคิดว่ามันง่าย ๆ ที่ไหนได้ยากกว่าเป็น ผอ.ตั้งเยอะ??? ผมก็ตอบไปว่า “ใจเย็น ๆ ครับอาจารย์ คิดเสียว่าเราลงทุนในทรัพย์สินที่ดิน อย่างไรเสีย ราคาก็ไม่ตก ยางก็ต้นยังสาว ยังให้น้ำยางได้อีกนาน ธุรกิจรถยนต์ในจีน อินเดีย ในกลุ่มเอเซีย มีแต่โตวันโตคืน ดังนั้น ยางจะกลับมาราคาดีอีกแน่นอน ที่ดินที่มีต้นยางอยู่แล้ว ราคาจะขยับสูง และยิ่งดูแลดี ๆ มีแต่ราคาขึ้นไม่มีลง อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปเลย ทำใจให้สบาย ๆ” ผมก็ปลอบไปตามข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่สามารถนำมาเป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์ ก็แค่นั้นเองที่เอาสวนยางมาเล่าให้ฟังก็เพื่อเปรียบเทียบให้ดูว่าบางครั้งธุรกิจการเกษตรที่เราเคยวาดความหวังไว้อย่างสวยหรูนั้น ข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดนะครับ

เพื่อนคนหนึ่ง มีตำแหน่งหน้าที่สูงในกรมสรรพากร ปรารภกับผมว่า มีหนังสืออะไรดี ๆ ที่เกี่ยวกับมะม่วงบ้างไหม ผมอยากได้ (ผมก็แนะนำหนังสือไป สอง สามเล่ม คือหนังสือเปลี่ยน และ เดอะแพลนท์ไป) ท่านมีที่ดินที่ราชบุรีอยู่แปลงหนึ่งอยากปลูกมะม่วง จะเริ่มต้นทำอย่างไร ผมฟังดูก็เห็นดีเห็นงามไปด้วย เพราะเป็นช่วงที่หลายคนกำลังเตรียมแผนงานชีวิตหลังเกษียณ แม้ว่าจะเหลือเวลาอีก สองสามปีก็ตามที แต่เวลาที่ว่า เผลอแป๊บเดียวหมดไปปี ๆ หากไม่เตรียมแต่ตอนนี้ ไปเริ่มตอนเกษียณจริง ๆ จะไม่ทันการณ์ กำลังด้านต่าง ๆ เช่น กำลัง(ร่างกาย)  กำลังเงิน กำลังภายใน (พอไม่มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต ขออะไรใครก็ยากเย็นไปเสียทุกเรื่อง) เพื่อนคนนี้ติดใจที่ผมเอามะม่วง น้ำดอกไม้(สีทอง)ไปฝาก เห็นว่าสวย สด หวาน ถูกใจ ให้หลงไหลได้ปลื้ม เลยอยากปลูกมะม่วงขึ้นมาอย่างจับจิตจับใจ พยายามเพียรสอบถามผมอยู่หลายต่อหลายครั้ง ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ใช้เวลานานเท่าไร หาสายพันธุ์ได้ที่ไหน ดูแลอย่างไร ผลผลิตต่อไร่ ลงทุนทั้งหมดเท่าไร ขายได้เท่าไร กำไรหรือขาดทุน คิดออกมาในรูปของความคุ้มค่ากับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องอธิบายอย่างชัดเจน ไม่ผิดหรอกครับ เพราะเป็นคำถามของคนทั่วไปที่ต้องการทำธุรกิจอะไรสักอย่าง ต้องการคำตอบที่ชัดเจน มีเหตุผลรองรับในการตัดสินใจ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่มีทิศทางในการทำธุรกิจ
                ที่ผมยกตัวอย่างมาให้ดูและเทียบเคียง ก็เพื่อจะให้เห็นถึงวิธีคิด วิธีทำ และวิธีลงทุนทุกอย่างมันไม่ใช่เรื่องสนุก ๆ  ทำง่าย ๆ แล้วได้ผลตอบแทนง่าย ๆ ทุกเรื่องมีเนื้อหาสาระ มีข้อมูล มีตัวองค์ความรู้ มีความชำนาญ และต้องมีทักษะ ผสมผสานกับ อดทน ความมุ่งมั่น ตั้งใจ เอาจริงเอาจังกับอาชีพนั้น ๆ จึงจะประสบความสำเร็จได้ ทุกอาชีพมีขั้นเป็นตอน และปรับจากเล็ก ๆ ขยับขึ้นไปเป็นใหญ่ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ องค์ความรอบรู้ สร้างเสริมความชำนาญ ที่สำคัญ มีคน มีทุน เป็นพื้นฐานที่มั่นคง ในการขยายและเจริญเติมโต หากคิดว่า มีเงินอย่างเดียว ไม่มีคน ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ หรือ มีเงิน มีคน แต่ ขาดองค์ความรู้(การจัดการ การตลาด) ขาดทักษะ และประสบการณ์ แล้วโอกาสของความสำเร็จจะมีมากน้อยแค่ไหน ลองคิดดู
อยากมีสวนมะม่วง ต้องทำอย่างไร? : ก่อนซื้อ ก่อนตัดสินใจ ดูเงินในกระเป๋าตัวเองก่อนว่าได้จัดสรรอย่างมีระบบหรือยัง หากลงทุนในที่ดิน แล้วมีเงินส่วนหนึ่งไว้หมุนเวียน และอีกส่วนหนึ่งประกันความเสี่ยงที่หากทำไม่สำเร็จ ยังมีเงินเลี้ยงตัวเองในยามชราภาพ(ไม่ต้องหวังคนอื่นมาเลี้ยงเราเด็ดขาด) เมื่อจัดสรรเงินแล้ว หาซื้อที่ดินที่เรามีกำลังซื้อ กำลังดูแล อย่าโลภ อย่ายากได้ จนมีเหตุร้อยแปดมาสนับสนุน จนคนใกล้ตัวรำคาญเออออไปด้วยเพื่อตัดความรำคาญ อย่าเอาวิธีทางธุรกิจล้วน ๆ มาใช้เพราะ การทำเกษตรมีความละเอียด ปราณีต บรรจงทุกขั้นตอน หลุดตอนไหน ตอนนั้นก็เสียหาย เมื่อมาดูภาพรวมขาดทุน แล้วจะเกิดความท้อแท้ ปล่อยลกล้างว่างเปล่า เรียกว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ตามพังเพยโบราณที่ว่าไว้  หรืออาจจะต้องทนนั่งฟังคนข้างเคียงบ่นและกระแนะกระแหนะไปอีกนาน
แสวงหาที่ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกมะม่วง ทำเลที่ตั้ง เช่น ที่เนิน ที่หลบฝน หลังเขา เนินเขา น้ำไม่ท่วม ฝนตกแล้วน้ำไม่ขั้ง ที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ (ไม่ถูกตักหน้าดินไปขาย) หรือบางที่มีมะม่วงอยู่แล้ว จำนวนไม่มาก มีกำลังซื้อ และดูแลได้ กรณีที่มี มะม่วงอยู่ด้วย ดูสายพันธุ์มะม่วงว่าเป็นสายพันธ์เศรษฐกิจหรือไม่ ดูการปลูก แนวการปลูก สภาพสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง สวนใกล้เคียง มีแหล่งน้ำที่เหมาะสม เดินดูให้ละเอียด ทั้งสวน ทั้งสภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมใกล้เคียง การคมนาคม(ถนนเข้าออก) ทางที่ดี ขอดินไปตรวจสอบความสมบูรณ์  ในกรณีที่เป็นที่ลุ่ม(ภาคกลาง) ต้องระมัดระวังเรื่องที่ดินที่ยกร่องมีน้ำขัง มีโอกาสน้ำท่วมสูง น้ำเสีย อันนี้ควรหลีกเลี่ยง
มีเงินอย่าใจร้อน : บางคนได้ที่ดินมาเพราะความบังเอิญ ความไม่จงใจ ถูกยัดเยียด หรือฟรุ๊ค
 มีหลายคนที่บังเอิญมีที่ดิน เพราะมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง(ไม่มากนัก) มีพรรคพวกยัดเยียดมาให้ ถูกยืมเงินแล้วไม่ใช้(ขายที่ดินแบบใหม่) ยกที่ดินมาแทนเงินต้น แถมมีบุญคุณอีกต่างหาก(คนอื่นย่านนี้ขายแพงกว่า นี่เห็นว่าช่วยเหลือเลยคิดต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกัน) ซื้อเพราะราคาถูก ที่ดินทำเลดี(ดินไม่ดี) ติดถนนใหญ่ ราคาถูก(ขุดหน้าดินไปขาย) จิปาถะเหตุผลของคนมีที่ดิน เมื่อสอบถามลึก ๆ ว่า ที่ดินที่นั้นเหมาะสมที่จะปลูกมะม่วงมากน้อยแค่ไหน ตอบไม่ได้ ไม่มีความรู้ ไม่เข้าในเรื่องของการเกษตรเลย เคยแต่เป็นลูกชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว วันนี้คนละเรื่องกัน ลองย้อนและใจเย็น ๆ คิดคำนวนยับยั้งชั่งใจว่า เราชอบจริงหรือ เราสละแล้วซึ่งความสะดวกสบายได้จริงหรือ เรามีคนที่มีความรู้ ความชำนาญ ไว้ใจได้ ช่วยเราดูแลจริงหรือ ที่ดินตรงนี้มีคุณสมบัติดีพร้อมจะปลูกมะม่วงจริงหรือ (สอบถามผู้รู้หรือหาหนังสือที่เกี่ยวข้องอ่านมากๆ ก่อนตัดสินใจ) เมื่อคิดคำนวนแล้วเห็นว่าลู่ทางเป็นไปตามที่เราต้องการแล้วค่อยตัดสินใจ ซื้อหา หรือทำ
มีสวนแล้วต้องตรวจสอบความพร้อม: เมื่อมีสวนตามที่คาดหวังแล้ว การลงทุนเป็นเรื่องของ ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และประสบการณ์ ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ การศึกษา หาความรู้จากผู้อื่น ต้องมีคนที่ไว้ใจได้ ซื่อสัตย์ ขยันอดทน มีความรู้ในเรื่องมะม่วง  มาเป็นกำลังสำคัญในการทำงาน เพราะเมื่อผันชีวิตเป็นเกษตรกร จะนั่งสั่งการที่กรุงเทพ แบบทำธุรกิจ หรือรับราชการนั้นคนละเรื่องกัน(เรื่องนี้คอยติดตาม ตอน 2 คนมีสวนมะม่วง:ความเป็นจริงที่ถูกซ่อนเร้น) ชีวิตเกษตรกร ต้องรู้จริง ทำจริง  เดินเข้าสวนต้องรู้ว่าดินมีปัญหา น้ำมีปัญหา อากาศมีปัญหา ปลูกมะม่วงก็ต้องรู้ว่าลักษณะอย่างนี้ มะม่วงเขาเป็นอะไร ขาดอะไร ใครทำร้ายเขา หรือ เขาต้องการความช่วยเหลืออะไรจากเรา ทางไหน เรื่องใดเร่งด่วนหรือรอได้
ท้ายที่สุด ก่อนตัดสินใจต้องถามตัวเองก่อนว่า “รู้ รัก ชอบ หรือ ทำไปอย่างนั้นเอง”
หลายคนเห็นผมทำมะม่วงแล้วขายดิบขายดี จนผลผลิตไม่พอขาย คำถามที่ได้ยินเสมอ ๆ คือ จะปลูกมะม่วงพันธุ์ไหนดี ปลูกแล้วจะขายให้ใคร ขายแล้วราคาคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ คำถามเหล่านี้ผมได้ยินได้ฟังมาตลอดเวลากว่า 20 ปี ผมขอบอกตรงนี้เลย ปัจจัยที่จะทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประเด็น ไม่ว่า คน เงิน การแข่งขัน การรู้เขารู้เรา การนำนวัตกรรมมาใช้ การบริหารจัดการองค์รวม (คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี เวลา โลจิสติค) เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน พืชผักผลไม้ เปรียบเสมือนเด็กอ่อน ที่ต้องการคนเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด หากเขาได้รับผลกระทบแต่ละครั้ง ใช้เวลาในการแสดงผลนาน ดังนั้น ต้องมีความอดทน ขยัน ดูแล เอาใจใส่ งานทุกงานที่เกี่ยวกับงานด้านการเกษตร ต้องอาศัยความละเอียด ปราณีต บรรจง ผลจึงจะออกมาดี ผู้บริโภคสามารถเข้าใจในเนื้อหาสาระของความละเอียดปราณีตเหล่านั้นผ่าน “รสชาติ ความความสะอาด ปลอดภัย และความสมบูรณ์” โดยสัมผัสด้วยโสตประสาททั้งห้า ทุกวันนี้ กระแสของผู้บริโภค เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั้งโลก มิใช่แค่เกิดในส่วนใดส่วนหนึ่ง เทคโนโลยีการสื่อสาร ย่อโลกให้เล็กแค่ปลายนิ้วสัมผัส ดังนั้นกระแสที่เกิดในซีกโลกหนึ่งจะผ่านระบบการสื่อสารที่รวดเร็วเพียงเซี่ยววินาที และจะสร้างเป็นกระแส ฉะนั้น ทิศทางของผู้บริโภคในโลกนี้จะเป็นทิศทางเดียวกัน คือพัฒนาการผู้บริโภคที่ยกระดับโดยให้ความสำคัญต่อ คุณค่าทางโภชนาการ ผ่านรสชาติที่ถูกปาก ถูกใจ มีความปลอดภัยสูง สวยงามทั้งรูปลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ ราคาเป็นธรรม ทุกอารมณ์การตัดสินใจของผู้บริโภค ผ่าน การสัมผัสจากตัวจริงของจริง หากวันนี้คิดจะผลิตเพื่อขาย คงต้องคิดเยอะ แต่หากคิดว่าจะผลิตไว้บริโภคเองหรือแจกญาติสนิทมิตรสหาย  อันนี้สุดแล้วแต่ละคนจะคิด เพราะการลงทุน เป็นสิทธิอันชอบธรรมของท่าน แต่เมื่อขาดทุน ท่านและครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ไม่สามารถวิงวอน หรือเรียกร้องจากใครได้ครับ...

2 ความคิดเห็น:

  1. อ่านแล้วให้แง่คิดเป็นประโยชน์มากครับ

    ตอบลบ
  2. Sands Casino Hotel
    Sands Casino Hotel · Las Vegas, 샌즈 카지노 NV. · Encore Las Vegas, NV. · Las Vegas Sands Casino Hotel · The Mirage Las Vegas. · Sahara Las Vegas Sands Casino Hotel · Resorts Casino Hotel

    ตอบลบ